วัดในครั้งพุทธกาล ตอนที่ 2
วัดปุพพาราม
สาเหตุแห่งการสร้างวัด
มิคารเศรษฐีผู้เป็นพ่อผัวของนางวิสาขาเห็นว่าเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์(มหาละดาปะสาด) ที่ธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาเกตผู้เป็นบิดาของนางสร้างให้ก่อนส่งตัวมาเป็นสะใภ้ของตนที่เมืองสาวัตถี อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล หนักเกินไป ไม่เหมาะที่จะสวมใส่ประดับตกแต่งร่างกายไปไหน มาไหนได้ จึงให้ช่างทำเครื่องประดับที่มีน้ำหนักเบากว่าชื่อว่า ฆนมัฏฐกะ(ฆะนะมัดถะกะ)ให้แก่นาง เพราะจะสามารถสวมใส่ประดับตกแต่งได้ในทุกอิริยาบถและทุกวันเวลา
ในสมัยที่ในกรุงสาวัตถีมีงานมหรสพอันเป็นมงคล นางวิสาขาก็จะประดับเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์ มีลูกและหลานห้อมล้อมไปเพื่อชมมหรสพในงานนั้น ต่อมา ในวันที่มีมหรสพเช่นเดียวกัน มหาชนเป็นอันมากพากันแต่งตัวแล้วไปสูวิหารเพื่อฟังธรรม แม้นางวิสาขาก็ประดับกายด้วยเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์ ไปสู่วิหารเพื่อฟังธรรมพร้อมกับหมู่มหาชน ครั้นถึงวิหารแล้ว นางได้เปลื้องเครื่องประดับ ห่อด้วยผ้าห่มส่งให้สาวใช้เก็บรักษาไว้ เพราะนางคิดว่า การที่จะประดับสิ่งที่มีค่ามากถึงเพียงนี้ไว้บนศีรษ ะและประดับเครื่องอลังการต่างๆ จนถึงหลังเท้าเข้าไปสู่วิหารนั้นเป็นการไม่บังควร จึงบอกสาวใช้ว่า เจ้าจงรักษาเครื่องประดับนี้ไว้ ฉันจักสวมมันในเวลากลับจากสำนักของพระศาสดา ได้สวมเครื่องประดับชื่อฆนมัฏฐกะแทน แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ครั้นฟังธรรมแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ลุกจากที่นั่งหลีกไป ฝ่ายสาวใช้ได้ลืมเครื่องประดับนั้นแล้ว
เมื่อบริษัทฟังธรรมแล้วหลีกไป หากใครลืมสิ่งของใด พระอานนทเถระจะเป็นผู้เก็บรักษาสิ่งของนั้นไว้ ในวันนั้นท่านพระอานนทเถระเห็นเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์แล้วกราบทูลแด่พระศาสดาว่า นางวิสาขาลืมเครื่องประดับไว้ พระศาสดาตรัสรับสั่งแก่พระอานนท์ให้เก็บรักษาไว้ พระอานนท์นำเครื่องประดับนั้นไปเก็บคล้องไว้ข้างบันได
ฝ่ายนางวิสาขาเที่ยวไปในภายในวิหารเพื่อถามถึงทุกข์สุขของพระภิกษุสงฆ์ ครั้นได้ตรวจดูภิกษุสามเณรภายในวิหารเสร็จแล้ว จึงเรียกสาวใช้มาและบอกว่าจะสวมเครื่องประดับ สาวใช้ระลึกตัวได้ว่าลืมเครื่องประดับไว้ที่วิหาร จึงรายงานนายไปว่าตนลืมเครื่องประดับไว้นางบอกให้สาวใช้กลับไปเอา และสั่งกำชับสาวใช้ว่า ถ้าพระอานนท์ยกเก็บไว้ในที่อื่นแล้วก็อย่าได้นำเอามา ให้ถือว่าฉันได้ถวายแก่พระคุณเจ้าแล้ว
พระอานนท์พอเห็นสาวใช้นั้นได้เข้าไปใกล้และถามเธอ ได้รับคำตอบว่า เธอกลับมารับเครื่องประดับที่ลืมไว้คืน พระอานนท์แจ้งแก่เธอว่า ได้เก็บไว้ที่ข้างบันได ขอให้เธอไปรับเอาเครื่องประดับที่นั้นได้เลย สาวใช้จึงนมัสการท่านพระอานนท์ไปว่า นายหญิงได้สั่งว่า หากห่อเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าเอาถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องนำคืนไป
ฝ่ายนางวิสาขาพอเห็นสาวใช้เดินกลับมาด้วยมือเปล่าก็ทราบได้ทันทีว่าเครื่องประดับนั้นพระอานนท์ได้เก็บรักษาไว้ จึงกล่าวกับสาวใช้ว่า ฉันไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าจับต้องแล้ว และฉันก็ได้บริจาคแล้ว นางวิสาขาคิดว่า หากพระคุณเจ้าเก็บรักษาเครื่องนั้นไว้ก็คงลำบาก ฉันจักจำหน่ายแล้วนำสิ่งที่เป็นกัปปิยะ(สิ่งที่ควรแก่ภิกษุใช้สอยได้ หรือ บริโภคได้) จึงบอกให้สาวใช้กลับไปนำเครื่องประดับนั้นมา และได้ให้ช่างทองมาตีราคาเครื่องประดับ ณ ที่นั้นเอง เมื่อประเมินราคาเฉพาะเครื่องประดับเท่านั้นคิดเป็นมูลค่าได้ ๙ โกฏิ(โกด) (๑ โกฏิ เท่ากับ สิบล้าน : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์, พระธรรมปิฎก ) ส่วนค่ากำเหน็จประเมินราคาแล้วมีมูลค่า ๑ แสน นางจึงสั่งให้นำเครื่องประดับใส่ยาน นำไปประกาศขาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์เพียงพอที่จะซื้อเครื่องประดับนี้ได้ อีกทั้งหาบุคคลที่คู่ควรแก่เครื่องประดับนี้ได้ยาก
กล่าวกันว่า มีสตรีอยู่ ๓ คนเท่านั้นที่มีความเหมาะสมแก่การสวมใส่เครื่องประดับนี้ คือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางมัลลิกาภรรยาของพันธุลมัลลเสนาบดี และลูกสาวของเศรษฐีแห่งกรุงพาราณาสี เพราะ ฉะนั้น นางวิสาขาจึงได้ซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเอง แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ ๑ แสนขึ้นใส่เกวียนนำไปสู่วิหาร กราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบความที่สาวใช้ลืมเครื่องประดับไว้ และพระอานนท์ได้เก็บเครื่องประดับนั้นไว้ ตนจึงถือว่าได้บริจาคเครื่องประดับนั้นแล้ว แต่การที่พระอานนท์จะเก็บรักษาเครื่องประดับไว้ก็จะกลายเรื่องยุ่งยากจึงได้ขายเครื่องประดับด้วยคิดว่าจะนำสิ่งของอันเป็นกัปปิยะมาถวาย แต่ก็หาผู้ซื้อได้ยาก จึงได้รับซื้อเครื่องประดับนั้นไว้เสียเองด้วยราคาเท่านี้ และกราบทูลว่า จะให้หม่อมฉันน้อมเข้าในปัจจัยไหน ในบรรดาปัจจัย ๔ (ปัจจัย ๔ คือ ๑.จีวรเครื่องนุ่งห่ม ๒.อาหารบิณฑบาต ๓.เสนาสนะที่อยู่อาศัย และ ๔.เภสัชยารักษาโรค)
การสร้างวัดปุพพาราม
พระศาสดาตรัสแก่นางวิสาขาว่า ควรสร้างที่อยู่เพื่อพระสงฆ์ใกล้ประดูเมือง(สาวัตถี)ด้านทิศปราจีน(ทิศตะวันตก) นางวิสาขารับพระพุทธดำรัสว่า สาธุ ด้วยจิตใจที่เบิกบานยิ่ง จึงนำทรัพย์ ๙ โกฏิไปซื้อที่ดิน และเริ่มสร้างวัดด้วยทรัพย์ที่เหลือ
โดยปกติหากพระศาสดารับบิณฑบาตในเรือนของนางวิสาขาแล้ว จะเสด็จพุทธดำเนินออกทางประตูด้านทิศทักษิณ(ทิศใต้) แล้วประทับอยู่ในพระเชตวัน หากรับบิณฑบาตในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว จะเสด็จพุทธดำเนินออกทางประตูด้านทิศปราจีนแล้ว ประทับอยู่ในบุพพาราม ครั้นมาวันหนึ่งชนทั้งหลายเห็นพระศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมากเสด็จพุทธดำเนินออกทางทิศอุดร(ทิศเหนือ)ด้วยพุทธประสงค์จะเสด็จไปสู่ภัททิยนคร อันแสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์จะต้องไม่กลับมาอีก แม้นางวิสาขาก็พอทราบเหตุนี้ จึงรีบไปถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า นางประสงค์จะบริจาคทรัพย์สร้างวิหารถวายแด่พระองค์ และประสงค์ให้พระองค์เสด็จกลับ แต่พระศาสดาก็ไม่ทรงรับคำนิมนต์นั้น นางวิสาขาจึงกราบทูลพระศาสดาขอให้ทรงรับสั่งแก่ภิกษุรูปหนึ่งที่เข้าใจงานของนางว่า สิ่งใดควรทำ และสิ่งใดไม่ควรทำกลับ พระศาสดาทรงประทานโอกาสแก่นางวิสาขาให้เลือกภิกษุที่นางต้องการเพียงรูปเดียว นางจึงเลือกพระมหาโมคคัลลานะ เพราะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก และอาจทำให้งานของนางสำสำเร็จได้ แม้จะมีศรัทธาในพระอานนท์ก็ตาม พระศาสดาตรัสสั่งให้พระโมคคัลลานะกลับไปควบคุมดูแลการก่อสร้างวัดพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป
ด้วยอานุภาพของพระโมคคัลลานะ พวกคนงานก่อสร้างที่ไปขนไม้ ขนหิน เป็นระยะทางไกลถึง ๕๐-๖๐ โยชน์( ๑ โยชน์เท่ากับ ๔๐๐ เส้น และ ๑เส้น เท่ากับ ๒๐ วา)ก็สามารถขนมาได้มากมายและทันในวันนั้น แม้ยกไม้ ยกหินขึ้นเกวียนก็ไม่ลำบาก และแม้เพลาเกวียนก็ไม่หัก การสร้างปราสาทสองชั้น ซึ่งประกอบด้วยห้อง ๑๐๐๐ ห้อง คือ ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง มียอดปราสาทที่สร้างด้วยทองคำสีสุกซึ่งสามารถจุน้ำได้ ๖๐ หม้อ ใช้เวลานาน ๙ เดือนก็สำเร็จ และนับแต่พระศาสดาเสด็จจากไปสู่ภัททิยนครก็นับเป็นเวลาได้ ๙ เดือนเหมือนกัน พระองค์จึงเสด็จกลับสู่กรุงสาวัตถีอีก นางวิสาขาทราบว่าพระศาสดาเสด็จกลับมายังพระเชตวัน จึงทำการต้อนรับพระศาสดาด้วยการนำเสด็จพระพุทธองค์ไปสู่วิหารของตน แล้วกราบทูลพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ให้ประทับอยู่ในวิหารของตนตลอด ๔ เดือนเพื่อทำการฉลองปราสาท
นางวิสาขาทำบุญฉลองวิหาร
นางวิสาขาได้ถวายทานแก่พระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในวิหารของตนตลอด ๔ เดือน วันสุดท้ายได้ถวายผ้าสาฎกสำหรับทำจีวรแก่ภิกษุสงฆ์ มีราคาพันหนึ่ง ได้ถวายเภสัช(ได้แก่เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย)แก่ภิกษุจนเต็มบาตรทุกรูป การถวายทานของนางครั้งนี้สิ้นทรัพย์ไป ๙ โกฏิ รวมทรัพย์ที่นางวิสาขาบริจาคไว้ในพระพุทธศาสนา ทั้งสิ้น ๒๗ โกฏิ คือ ใช้จ่ายในการซื้อที่ดิน ๙ โกฏิ ในการสร้างวิหาร ๙ โกฏิ และ ในการฉลองวิหารอีก ๙ โกฏิ นับได้ว่านางวิสาขาได้ทำการบริจาคทรัพย์เห็นปานนี้ ย่อมไม่มีแก่หญิงอื่นผู้ดำรงอยู่ในภาวะแห่งสตรีผู้ซึ่งอยู่ในเรือนของคนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ที่มา : มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พระธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๓, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ. ๒๕๓๕ หน้า ๑๐๐-๑๐๘
|